คณะที่ปรึกษา


Ajahn Jayasaro.jpg

พระอาจารย์ชยสาโร

การตั้งคำถามกับตัวเองว่าคนเราเกิดมาทำไม ชีวิตที่ดีงามเป็นอย่างไร อะไรคือสิ่งที่ดีที่สุดที่ควรจะทำเมื่อได้เกิดมาเป็นมนุษย์ เปรียบเสมือนหมุดหมายแรกของแผนที่ชีวิต ที่ได้นำทางให้ออกแสวงหาคำตอบผ่านการเดินทางไปในหลากหลายจุดหมาย จนนำมาสู่การปฏิบัติตามหลักคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

พระอาจารย์ชยสาโร มีนามเดิมว่า ฌอน ไมเคิล ชิเวอร์ตัน เกิดที่ประเทศอังกฤษ ด้วยนิสัยรักการอ่านนำมาซึ่งการคิดและการตั้งคำถามกับตัวชีวิต เมื่อได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับแนวทางพุทธศาสนา ทำให้ได้คำตอบที่พอใจและไม่สงสัยว่า การปฏิบัติตามหลักของพระพุทธเจ้าคือแนวทางชีวิตที่ถูกต้อง แม้จะมีผลการเรียนที่ดีเยี่ยม แต่เมื่อต้องเรียนต่อในมหาวิทยาลัยจึงได้ปฏิเสธการเรียนในระบบ และเลือกที่จะเรียนรู้ผ่านประสบการณ์จริง จากการเดินทางไปในหลายภูมิประเทศ ทั้งยุโรป ตะวันออกกลาง จนถึงประเทศอินเดีย และได้เริ่มฝึกการปฏิบัติภาวนาเป็นเวลากว่าสองปี เมื่อเดินทางกลับประเทศอังกฤษ จึงได้พบกับท่านสุเมโธ (พระราชสุเมธาจารย์) และได้ถือเพศเป็นอนาคาริก ถือศีลแปดที่วิหารแฮมสเตดในประเทศอังกฤษเป็นเวลาหนึ่งพรรษา จนได้เดินทางมากราบหลวงพ่อชา (พระโพธิญาณเถร) เป็นครั้งแรกที่วัดหนองป่าพง จึงทำให้เกิดความเชื่อมั่นว่ามรรคผลนิพพานมีอยู่จริง เชื่อว่าพระอรหันต์ยังไม่หมดไปจากโลก และเชื่อว่าการปฏิบัติธรรมให้ถึงที่สุดยังเป็นไปได้ในยุคปัจจุบัน เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๓ จึงได้รับการอุปสมบทโดยมีหลวงพ่อชาเป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์ชยสาโรได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดป่านานาชาติเป็นเวลาหลายปี ก่อนจะปลีกวิเวกมาพำนักอยู่ที่อาศรมชนะมาร ปากช่อง จังหวัดนครราชสีมาจนถึงปัจจุบัน

ด้วยเล็งเห็นว่าคุณค่าของชีวิตอยู่ที่การศึกษาและการปฏิบัติธรรม พระอาจารย์ชยสาโรได้รับเป็นองค์ประธานคณะกรรมการที่ปรึกษาของมูลนิธิปัญญาประทีป จากการให้ความสำคัญกับการศึกษาวิถีพุทธปัญญา รวมถึงได้เมตตาเป็นองค์คณะกรรมการที่ปรึกษาของมูลนิธิปัจจยา เพื่อชี้แนวทางการเผยแผ่พุทธธรรมสู่สังคมร่วมสมัย จากคำสอนและการปฏิบัติเป็นแบบอย่างที่ดีงาม ซึ่งได้แผ่ขยายออกไปสู่วงกว้างทั้งในไทยและระดับนานาชาติ นับได้ว่าเป็นธรรมทานที่เป็นไปเพื่อการสร้างประโยชน์ตนและประโยชน์สุขแก่เพื่อนมนุษย์อย่างเแท้จริง


Ajahn Anil.jpg

พระศากยวงศ์วิสุทธิ์

พระศากยวงศ์วิสุทธิ์ (พระอนิลมาน ธมฺมสากิโย) พระนักวิชาการที่มีผลงานโดดเด่นทั้งในประเทศไทยและระดับสากล ผู้กำเนิดมาจากสายเลือดศากยะบุตรแห่งประเทศเนปาล ที่สืบสายตระกูลมาจากศากยะมุนีปราชญ์แห่งสกุลศากยะหรือพระพุทธเจ้า 

หลังจากได้บวชเป็นสามเณรในประเทศเนปาล และมาศึกษาพระธรรมที่วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร เมื่ออายุครบบวชได้รับการอุปสมบทจากพระอุปัชฌาย์ โดยสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นผู้ช่วยเลขานุการสมเด็จพระสังฆราช และดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายกิจการต่างประเทศ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย พระอนิลมานสำเร็จการศึกษาศาสนศาสตรบัณฑิต จากคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย และศึกษาต่อระดับปริญญาโท ด้านมานุษยวิทยาจากมหาวิทยาลัยตรีภูวันแห่งกรุงกาฐมานฑุประเทศเนปาล นอกจากนี้ยังได้ศึกษาต่อระดับปริญญาโทด้านมานุษยวิทยาสังคมจากวิทยาลัยไครสต์คอลเลจ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ แล้วศึกษาต่อระดับปริญญาเอกด้านมานุษยวิทยาสังคมจากมหาวิทยาลัยบรูเนล โดยได้รับทุนพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นรองคณบดีและอาจารย์ประจำคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย และเป็นอาจารย์พิเศษประจำอยู่ที่ วิทยาลัยศาสนาศึกษา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยซานตาคลารา สหรัฐอมเริกา และมหาวิทยาลัยออกฟอร์ด สหราชอาณาจักร นอกจากการดำรงตำแหน่งอาจารย์ในมหาวิทยาลัยต่างๆ แล้ว พระอนิลมานยังเป็นกรรมการมูลนิธิแผ่นดินธรรมในพระสังฆราชูปถัมภ์ รวมถึงเมตตาเป็นพระอาจารย์ที่ปรึกษาหลักวิชาการทางธรรมแก่มูลนิธิปัจจยาอีกด้วย


Ajahn Prisal.jpg

พระไพศาล วิสาโล 

พระนักเผยแผ่ผู้ริเริ่มหลักในการเตรียมตัวทางจิตวิญญาณก่อนตาย เพื่อให้ผู้ตายจากไปอย่างสงบ จากอดีตนักกิจกรรม นักเคลื่อนไหวทางสังคม มาสู่การเป็นพระนักวิชาการที่เผยแผ่ธรรมะผ่านวิธีการสื่อสารที่หลากหลาย การเป็นพระนักคิด นักเขียน นักปฏิบัติ และนักบรรยาย ที่คนรุ่นใหม่นับถือและศรัทธาจากความเปิดกว้างในคำสอน

พระไพศาล วิสาโล (วงศ์วรวิสิทธิ์) สำเร็จการศึกษาจากคณะศิลปศาสตร์ สาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระหว่างเรียนที่ธรรมศาสตร์ เคยเป็นสาราณียกรปาจารยสาร และเป็นเจ้าหน้าที่กลุ่มประสานงานศาสนาเพื่อสังคม โดยมีบทบาทร่วมในแนวทางอหิงสาต่อเหตุการณ์ ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ ต่อมาในปี ๒๕๒๖ ได้อุปสมบท ณ วัดทองนพคุณ และเรียนกรรมฐานจากหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ จากวัดสนามใน ก่อนไปจำพรรษาแรก ณ วัดป่าสุคะโต จังหวัดชัยภูมิ โดยศึกษาธรรมกับหลวงพ่อคำเขียน สุวณฺโณ กระทั่งได้รับตำแหน่งเป็นเจ้าอาวาสวัดป่าสุคะโตมาจนถึงปัจจุบัน นอกจากการจัดอบรมปฏิบัติธรรมและการพัฒนาจริยธรรมอย่างต่อเนื่องแล้ว พระไพศาลยังเป็นประธานเครือข่ายพุทธิกา กรรมการมูลนิธิโกมลคีมทอง กรรมการมูลนิธิสุขภาพไทย กรรมการมูลนิธิสันติวิถี กรรมการสถาบันสันติศึกษา กรรมการสถาบันวิจัยและพัฒนา กรรมการสภาสถาบันอาศรมศิลป์ และอดีตกรรมการอิสระเพื่อความสมานฉันท์แห่งชาติอีกด้วย

หลักคิดจากหลักธรรมที่พระไพศาลเผยแผ่ได้ขยายไปสู่สังคมวงกว้าง โดยเฉพาะกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่แสวงหาแนวทางในการใช้ชีวิต การทำหน้าที่เป็นพระผู้นำของนักบวชที่สนใจในแนวทางพุทธเพื่อสังคม ได้เชื่อมโยงความรู้จากทางโลกและทางธรรม จนนำไปสู่มิติการยกระดับการพัฒนาจิตใจควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมอย่างแท้จริง


ดร.วิรไท สันติประภพ

นักเศรษฐศาสตร์ด้านการเงิน การธนาคาร ที่มีประสบการณ์ทั้งภาควิชาการและภาคปฏิบัติ ผ่านการทำงานทั้งในภาครัฐบาล สถาบันการเงินเอกชน และองค์กรระหว่างประเทศ ผู้เป็นกำลังสำคัญของชาติในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยการดำรงตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนปัจจุบัน

ดร.วิรไทสำเร็จการศึกษาเศรษฐศาสตร์บัณฑิต เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง จากมหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ ได้รับพระราชทานรางวัลทุนภูมิพลและทุนมูลนิธิอานันทมหิดล เพื่อศึกษาต่อจนสำเร็จการศึกษาระดับมหาบัณฑิต และดุษฎีบัณฑิตด้านเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด และเริ่มการทำงานในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ ณ กรุงวอชิงตัน ดีซี เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจไทยในปี ๒๕๔๐ จึงได้กลับมาเป็นผู้อำนวยการร่วมสถาบันวิจัยนโยบายเศรษฐกิจ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และมีบทบาทสำคัญในการผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและแก้ไขปัญหาระบบสถาบันการเงิน หลังจากนั้นจึงได้เข้าร่วมงานในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงของธนาคารไทยพาณิชย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย อีกทั้งความสามารถในด้านการเขียน จากการเป็นเจ้าของคอลัมน์ ‘เศรษฐศาสตร์พเนจร’ ในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ การเขียนหนังสือ ‘เศรษฐศาสตร์มีจริต’ และ ‘มรรคเธอประเทศไทย’ ที่รวบรวมความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจที่สะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลง รวมถึงการทำงานเพื่อสังคมผ่านการเป็นกรรมการ หรือที่ปรึกษาให้กับหน่วยงานต่างๆ อาทิ มูลนิธิอานันทมหิดล มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ มูลนิธิแม่ฟ้าหลวงฯ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ และหน่วยงานระดับประเทศอีกหลายหน่วยงาน ดร.วิรไท เคยได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการตรวจสอบ (Oversight Committee) ขององค์การอนามัยโลก ณ กรุงเจนีวา อีกด้วย

เมื่อมองผ่านฐานะนักบริหารทางการเงินและหน้าที่การงานอันหลากหลาย ในมุมชีวิตที่ว่างเว้นจากการงาน ดร.วิรไทเป็นผู้หนึ่งที่มีความชื่นชมในความงามของศิลปะ ผู้มองเห็นสุนทรียศาสตร์ของการใช้ชีวิตที่เงียบและเรียบง่าย ผ่านการอยู่อย่างธรรมดาและใกล้ชิดกับธรรมชาติ รวมถึงการเป็นนักภาวนาที่ทำให้การเป็นนักบริหารชีวิตสมบูรณ์ยิ่งขึ้น


Kamin.jpg

คามิน เลิศชัยประเสริฐ

ศิลปินผู้ถ่ายทอดผลงานศิลปะที่ได้รับแรงขับเคลื่อนหลักมาจากมิติการภาวนา การสื่อสารชีวิตผ่านงานศิลปะร่วมสมัย และการสื่อสะท้อนลึกทางจิตวิญญาณจากรากภูมิปัญญาพุทธธรรม การปฏิบัติวิปัสสนาที่ซื่อตรงต่อตัวเองและสัจจะของชีวิต ทำให้การสร้างงานศิลปะก้าวข้ามสัญลักษณ์เชิงพุทธที่ถูกตีความไว้ในกรอบเดิม

หลังจากจบการศึกษาที่คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร คามินได้เดินทางไปใช้ชีวิตอยู่ที่สหรัฐอเมริกา โดยเข้าศึกษาต่อที่ Art Students League of New York ก่อนที่จะกลับมาอยู่เมืองไทยและย้ายมาพำนักที่เชียงใหม่อย่างถาวร จากจุดเริ่มต้นของความคิดว่าศิลปะคือชีวิต เป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตมีความหมาย การทุ่มเทกับการทำความเข้าใจว่าศิลปะคืออะไร ทำให้เข้าใจว่าชีวิตคืออะไรจากการทำงานศิลปะ คามินได้ร่วมกับเพื่อนศิลปินก่อตั้งมูลนิธิที่นา ซึ่งได้เปลี่ยนพื้นที่นาให้กลายเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับโครงการทางศิลปะและสถาปัตยกรรมเฉพาะที่ จากความสนใจในการทำงานศิลปะร่วมกับผู้อื่น จึงทำให้เกิดเป็น ‘พิพิธภัณฑ์จิตวิญญาณร่วมสมัยของทศวรรษที่ ๓๑ ณ เชียงใหม่’ โดยได้รับแรงบันดาลใจจากการประชุมสัมนา ‘Stimulating Cities with Art’ ที่ 21st Century Museum of Comtemporary Art ประเทศญี่ปุ่น ตัวพิพิธภัณฑ์มีการปรับเปลี่ยนการนำเสนอไปในหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่พื้นที่การจัดแสดงงานที่ดัดแปลงมาจากตู้คอนเทนเนอร์จนถึงการปฏิบัติการเชิงสัมมนาในต่างประเทศ ปัจจุบันคามินยังคงสร้างงานศิลปะและจัดแสดงผลงานอย่างต่อเนื่องทั้งในเมืองไทยและระดับนานาชาติ

การค้นหาคำตอบให้ชีวิตได้ขยายขอบเขตการอธิบายความจริง ผ่านภาษาของงานศิลปะที่ทำให้เกิดความเข้าใจหรือให้ความหมายได้มากกว่าภาษาอื่น การตั้งคำถามถึงการเกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไปได้แฝงความหมายไว้ในผลงานศิลปะแทบทุกชิ้นของคามิน พร้อมกันนั้นยังได้สะท้อนถามผู้ที่พบเห็นว่าความจริงและคุณค่าของการมีชีวิตอยู่คืออะไร นับเป็นการตีความพุทธแบบร่วมสมัยผ่านกระบวนทัศน์ใหม่ในกระแสการภาวนา


ม.ล. อาภาวดี เทวกุล

การเป็นนักศึกษาตลอดชีวิตที่ตระหนักว่าชีวิตคือการศึกษา เมื่อมองเห็นว่าพุทธศาสนาคือแหล่งปัญญาที่ควรค่าแก่การรักษาไว้ พร้อมกับความสนใจที่จะศึกษาในด้านพุทธศาสตร์อย่างเป็นรูปธรรม ส่งผลให้เกิดเป็นความตั้งใจที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสืบทอดพุทธศาสนาและเผยแผ่หลักธรรมไปสู่สังคมไทย

เมื่อครั้งแรกที่ได้พบพระสงฆ์จากสายวัดป่าที่ประเทศอังกฤษ ด้วยความเลื่อมใสจึงเกิดความคิดว่าชาวต่างชาติยังมีสนใจในพระพุทธศาสนา และเกิดคำถามว่าทำไมคนไทยจึงไม่มีโอกาสได้ศึกษาธรรมะตามหลักที่ควรจะเป็น ประกอบกับการได้ฟังธรรมะตามกาล จึงทำให้เกิดการตั้งคำถามว่าทำไมจึงไม่ศึกษาจากพระไตรปิฏกด้วยตนเอง ม.ล. อาภาวดีจึงได้เลือกที่จะศึกษาพระอภิธรรม ที่อภิธรรมโชติกะวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย จากการเรียนรู้พระอภิธรรมที่เป็นหลักวิชาการ ยิ่งเน้นย้ำให้เห็นว่าหลักธรรมะเป็นสิ่งที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับชีวิตจริงได้ โดยเฉพาะการมองในแง่ของศาสนาพุทธที่เป็นวิถีที่เข้ากับสังคมไทย และจากประสบการณ์ด้านงานธนาคารต่างชาติที่ทำมากว่า ๒๐ ปี พร้อมกับการทำธุรกิจส่วนตัวด้านอสังหาริมทรัพย์ จึงทำให้คาดการณ์ว่าสภาพสังคมในอนาคตจะประสบกับปัญหาต่างๆ โดยเฉพาะปัญหาด้านเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของคนในสังคม ทั้งหมดนี้จึงเกิดเป็นแรงบันดาลใจในการศึกษาพุทธธรรม เพื่อการพัฒนาตนเอง ครอบครัว และสังคมในทุกระดับ

การเรียนรู้ที่จะเข้าใจหลักพุทธธรรมควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง ตามแนวพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จึงเป็นความสนใจของ ม.ล. อาภาวดี ผู้ที่ตั้งคำถามว่า ทำอย่างไรเราถึงจะตระหนักเห็นสัจจะธรรมที่เราดำรงอยู่และนำไปสู่สังคมที่มีสัมมาทิฐิได้