คณะทำงาน
กุณฑ์ สุจริตกุล
นวัตกรชาวพุทธผู้ที่เรียนจบจากมหาวิทยาลัยนาโรปะ (Naropa University) มหาวิทยาลัยพุทธในสหรัฐอเมริกา เชื่อในภูมิปัญญาของพุทธธรรมที่เป็นมากกว่าศาสนา จากการเล็งเห็นว่าสิ่งเหล่านี้เป็นทุนทางวัฒนธรรมและจิตวิญญาณที่โลกกำลังต้องการ
แต่ด้วยเหตุผลหลายประการในสยามประเทศ ส่งผลให้ไม่มีองค์กรหรือสถาบันที่สามารถยกระดับองค์ความรู้ดังกล่าวให้ไปสู่ระดับสากลได้ นอกจากครูบาอาจารย์จากสายวัดป่าที่เป็นกำลังสำคัญในการเผยแผ่ภูมิธรรม จากการทำงานที่เกี่ยวข้องกับบริบททางพุทธธรรมมาโดยตลอด กุณฑ์และกัลยาณมิตรจึงได้ร่วมกันก่อตั้งและขับเคลื่อนมูลนิธิปัจจยา เพื่อให้เป็นส่วนเชื่อมการพัฒนาองค์ความรู้พุทธธรรมในสังคมร่วมสมัย โดยที่ยังคงไว้ซึ่งสาระเดิมไม่บิดพลิ้วไปจากแก่นและไม่เน้นแต่เพียงเปลือกพิธีกรรม
ภากร มุสิกบุญเลิศ
เมื่อชีวิตหนีความทุกข์ไม่ได้อีกแล้ว การเดินทางอยู่ในแวดวงคนดนตรี การเป็นศิลปินที่ทำงานคาบเกี่ยวอยู่ในพื้นที่สีเทา ความสุขที่ได้รับจากทางโลกไม่ตอบโจทย์และไม่ให้ความหมายกับชีวิต
ศิลปิน นักแต่งเพลง โปรดิวส์เซอร์ ผู้เข้าใจมิติทางดนตรี ผู้ผ่านการศึกษาด้านศิลปะการบันทึกเสียงและธุรกิจงานบันเทิงจากมหาวิทยาลัยฟูลเซลล์ (Full Sail University) ในประเทศสหรัฐอเมริกา จึงได้เริ่มหันเหจากจังหวะเสียงเพลงและความสุดโต่งทางอารมณ์เข้ามาหาท่วงทำนองทางธรรมที่เข้าถึงใจและชีวิต การเป็นนักภาวนาที่เข้าหาความเงียบจากการปฏิบัติแทนที่เวทีคอนเสิร์ต การมีส่วนร่วมในการทำงานเผยแผ่ทางพุทธธรรมผ่านงานดนตรี ทำให้ค้นพบว่าสิ่งนี้คือความสุขที่ตามหาอยู่ ซึ่งเป็นความสุขจากการทำประโยชน์ทั้งกับตนเองและผู้อื่น
จิรศักดิ์ ไพรสานฑ์กุล
การตั้งคำถามว่าคนเราเกิดมาทำไม คำตอบที่ยังค้นไม่พบทำให้หาทางออกจากชีวิตไม่เจอ ความว่างเปล่าภายในยิ่งสร้างแรงกดดันต่อการมีชีวิตอยู่ เมื่อถึงจุดที่ชีวิตต้องการคำตอบที่แท้จริงธรรมะจึงได้ทำหน้าที่เข้ามาชี้ทางให้พบคำตอบนั้น
ชีวิตที่เจอแก่นสารและความหมายของ ‘การธรรมงาน’ ที่สื่อสารถึงสุนทรียศาสตร์และความลึกซึ้งของชีวิต ความสนใจทางพุทธศิลป์นำไปสู่การศึกษาค้นคว้าและปฏิบัติด้วยตนเอง ประสบการณ์จากงานภาพเคลื่อนไหวในเชิงพาณิชย์และการถ่ายภาพนิ่งที่เป็นความสุขส่วนตัว จิรศักดิ์เป็นศิลปินผู้เรียนรู้การทำหนังจากชีวิตจริงที่ไม่เคยผ่านสถาบันทางวิชาการแห่งโลกภาพยนตร์ จากมุมมองที่เห็นว่าสื่อทุกวันนี้มีผลกระทบต่อสังคมอย่างมาก การลุกขึ้นมาทำสิ่งดีๆ ที่เป็นทางเลือกใหม่อาจจะช่วยให้สังคมนี้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นได้
สมชาย สุนทรยาตร
นักกระบวนกรผู้จบการศึกษามาทางด้านรัฐศาสตร์การฑูต จากความสนใจในพุทธศาสนาและการบวชเรียนมากว่า ๑๑ พรรษา จึงทำให้เกิดประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านการเจริญสติและการภาวนาเพื่อการตื่นรู้ในทางพุทธศาสนาร่วมสมัย
ในด้านประวัติการทำงานสมชายเป็นวิทยากรผู้จัดอบรมทักษะในเชิงศิลปะการจัดกระบวนการเรียนรู้ เพื่อการเปลี่ยนแปลงในวิถีไดอะล็อค (Dialogue) หรือสุนทรียสนทนาเพื่อปัญญาร่วม (Dialogue for Collective Leadership) การพัฒนาภาวะผู้นำร่วม (Collective Leadership Development) การสื่อสารอย่างสันติ (Non Violence Communication) การภาวนาเพื่อตื่นรู้ รวมถึงการจัดหลักสูตร LO&KM (Learning Organization and Knowledge Management) หลักสูตรพัฒนากระบวนกร (Facilitator) และการบริหารและคลี่คลายความขัดแย้ง (Conflict Resolution and Management) ให้กับองค์กรชั้นนำทั้งภาครัฐและเอกชน